การใส่สายระบายน้ำดีในตับ (Percutaneous transhepatic biliary drainage; PTBD) คืออะไร ?
การใส่สายระบายน้ำในตับ (PTBD) คือวิธีการระบายเอาน้ำดี (Bile) ที่คั่งค้างออกผ่านทางสายระบาย (Drainage catheter) ซึ่งแพทย์จะใส่สายระบายผ่านผนังหน้าท้องของคนไข้ไปวางในท่อน้ำดีในตับโดยตรง โดยผลจากการระบายน้ำดีที่คั่งค้างออกจะช่วยให้อาการตัวเหลืองตาเหลืองดีขึ้น (Jaundice), ลดค่าเหลืองในเลือด (Serum bilirubin level), ลดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี (Biliary infection)
ทำไมฉันต้องได้รับการใส่สายระบายน้ำดีในตับ
แพทย์จะพิจารณาส่งคนไข้มาเพื่อใส่สายระบายน้ำดีในตับ (PTBD) เมื่อตรวจพบว่าคนไข้มีการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Biliary obstruction) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปจะแบ่งสาเหตุของการอุดตันเป็น 2 ชนิด คือ 1. การอุดตันอันเนื่องมาจากมะเร็ง (Malignant biliary obstruction) และ 2. การอุดตันจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign biliary obstruction) เช่น นิ่ว (biliary stone), พังผืดหลังการผ่าตัด (Fibrosis/ adhesion), การอักเสบต่างๆ (Inflammation) ซึ่งผลจากทางเดินน้ำดีอุดตัน คนไข้อาจมีอาการคันตามร่างกาย (Icterus), ตัวเหลืองตาเหลือง (Jaundice), อ่อนเพลียเบื่ออาหาร (Malaise), มีไข้, ปวดท้อง, หรือ ทางเดินน้ำดีติดเชื้อ (Biliary infection/ cholangitis) เป็นต้น
ฉันต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนใส่สายระบายน้ำดีในตับ
ก่อนเข้ารับการรักษา คนไข้จำเป็นต้องพบแพทย์ (Clinician) เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้ทางเดินน้ำดีอุดตัน และมีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นหรือไม่ในการใส่สายระบายน้ำดีในตับ
บางกรณี คนไข้อาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยภาพถ่ายทางรังสี เพื่อวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของทางเดินน้ำดีอุดตัน และเพื่อวางแผนการรักษา เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasonography), เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
หลังจากได้รับการวินิจฉัย และพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ในการใส่สายระบายน้ำดีในตับ ท่านจะได้รับนัดหมายให้พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้ข้อมูลถึง ข้อบ่งชี้ ความจำเป็น ความเสี่ยง และขั้นตอนการรักษา
หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการใส่สายระบายน้ำดีในตับ
นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram, liver function test; LFT)
งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการทำหัตถการ
แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะใช้อัลตราซาวด์เพื่อประเมินตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการใส่สายระบายน้ำดี จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาที่ผนังหน้าท้องคนไข้ แล้วจึงใส่สายระบายน้ำดี คนไข้อาจรู้สึกแน่นท้องได้เป็นปกติในขึ้นตอนนี้
หลังจากแพทย์ใส่สายระบายน้ำดีได้แหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจมีการฉีดสีดูทางเดินน้ำดี (Cholangiography) เพื่อประเมินความรุนแรงของการอุดตัน
จากนั้นแพทย์จะต่อสายระบายน้ำดีเข้ากับถุงเก็บน้ำดี และเย็บแผล พร้อมทำความสะอาดแผล
ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ปวดแน่นท้อง
มีไข้ หรือการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
เลือดออกในทางเดินน้ำดี
หากระดับค่าเหลืองในเลือดยังไม่ลดลงอาจต้องใส่สายระบายเพิ่มอีกในตับบริเวณอื่นๆ
*คำแนะนำในการดูแลแผล และปฏิบัติตัวหลังใส่สายระบายน้ำดีในตับ
ดูแผลแผลอย่าให้แผลเปียกน้ำ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดตัวแทนการอาบน้ำจนกว่าแพทย์จะเอาสายออก
ทำแผลด้วยวิธีปลอดเชื้อ (Sterile technique) ด้วยตนเอง หรือที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน ทุกๆ 3 วัน หรือบ่อยกว่านั้นถ้าพบว่าแผลสกปรก หรือเปียกชื้น
จดบันทึกปริมาณน้ำดี และลักษณะของสีน้ำดีที่ออกทุกวัน แนะนำให้บันทึกปริมาณเป็น ซีซี/วัน (ml/day) ลงในสมุด และนำมาทุกครั้งเมื่อพบแพทย์
สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไข้ ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น โดยหากพบร่วมกับปริมาณน้ำดีที่ออกลดลง สีเปลี่ยนไป หรือสายเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม แนะนำให้รีบพบแพทย์ หรือโทรมาที่ศูนย์รังสีร่วมรักษา เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสายระบายอุดตันจากเศษตะกอนน้ำดี หรือตำแหน่งสายอาจเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมแก่การระบายน้ำดี