ประวัติความเป็นมา

     หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นหน่วยงานที่สังกัด สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ที่ตึก 72 ชั้น 2 ด้านตะวันออก โดยมีภารกิจที่สำคัญ ในการให้บริการหัตถการทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) ทั้งการให้การรักษาผ่านทางหลอดเลือด (Vascular Intervention) เช่น การอุดหลอดเลือด การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือตัวถ่างหลอดเลือด การให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง เป็นต้น และการให้การรักษาด้วยการสอดเข็มหรือเครื่องมือผ่านเข้าทางผิวหนังโดยตรง (Non-vascular Intervention) เช่น การตัดตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางผิวหนัง การจี้ก้อนเนื้องอก การใส่สายระบายหนองหรือสารคัดหลั่ง เป็นต้น

   การรักษาโดยวิธีการทางรังสีร่วมรักษานี้เกี่ยวข้องกับโรคระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย จึงได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มผู้ให้การรักษาโรค และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นหัตถการที่จัดเป็น minimally invasive หรือ noninvasive ที่ให้ผลการรักษาที่ดียิ่ง ดังนั้น จึงเป็นผลให้ความต้องการที่จะรับบริการทางรังสีร่วมรักษาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราชเท่านั้นแต่ยังรวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่ขอส่งต่อเข้ามาเพื่อรับบริการด้วย นอกจากให้บริการตรวจและรักษาผู้ป่วยแล้วยังเป็นแหล่งให้การฝึกอบรมอนุสาขาทางด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาท และรังสีร่วมรักษาระบบลำตัวของแพทยสภา

     ในวันที่ 6 มิถุนายน 2560 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช" อย่างเป็ทางการ เป็น 1 ใน 15 ศูนย์ความเป็นเลิศ (SiCOE) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพทั้งในด้านงานบริการและงานวิชาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป