การใส่สายระบายหนอง (Percutaneous drainage; PCD) คืออะไร ?
การใส่สายระบายหนอง (Percutaneous drainage; PCD) คือกระบวนการเอาหนอง (Pus) ซึ่งเป็นของเหลวที่มีการติดเชื้อ (Infected fluid collection) ที่ค้างอยู่ภายในร่างการของคนไข้ออก โดยแพทย์จะวางสายระบายไว้ในแอ่งหนองในร่างกายของคนไข้ ดังนั้น หลังเสร็จสิ้นหัตถการคนไข้จะมีสายระบายหนองแทงผ่านผนังของลำตัวออกมา
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์แสดงฝีหนองในตับ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าต้องรักษาโดยใส่สายระบายหนอง
ภาพแสดงสายระบายหนองที่แทงผ่านหน้าท้องคนไข้ออกมา
ทำไมฉันต้องได้รับการใส่สายระบายหนอง
แพทย์จะพิจารณาใส่สายระบายหนอง (Percutaneous drainage หรือ PCD) ให้คนไข้เมื่อตรวจพบว่ามีหนองอยู่ภายในร่างกายของคนไข้ โดยหนองอาจเกิดจากการติดเชื้อเองตามธรรมชาติ (Spontaneous) หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในของเหลวหรือเลือดที่ค้างในร่างกายหลังการผ่าตัด (Post operative fluid collection) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งของหนอง คนไข้อาจมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย อุจาระบ่อย เป็นต้น
คนไข้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งการได้ยาฆ่าเชื้อ (Anti-biotics), การใส่สายระบายหนอง (PCD) หรืออาจต้องได้รับการผ่าตัดระบายหนอง (Surgical drainage) หากมีความจำเป็น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด
ภาพแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในการใส่สายระบายหนอง
ภาพแสดงสายระบายหนอง มีปลายที่ขดเป็นวง
ฉันต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนใส่สายระบายหนอง
ก่อนเข้ารับการรักษาโดยวิธีอุดหลอดเลือด คนไข้จำเป็นต้องพบแพทย์ (Clinician) เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัด ว่ามีหนองในร่างกายจริงหรือไม่ เกิดจากสาเหตุอะไร ตำแหน่งและขนาดของหนอง และมีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นหรือไม่ในการใส่สายระบายหนอง
บางกรณี คนไข้อาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยภาพถ่ายทางรังสี เพื่อวินิจฉัยโรค และเพื่อวางแผนการรักษา เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasonography), เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
หลังจากได้รับการวินิจฉัย และพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ในการใส่สายระบายหนอง ท่านจะได้รับนัดหมายให้พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้ข้อมูลถึง ข้อบ่งชี้ ความจำเป็น ความเสี่ยง และขั้นตอนการรักษา
หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการใส่สายระบายหนอง
นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram)
งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการทำหัตถการ
แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะใช้อัลตราซาวด์ หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อประเมินตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการใส่สายระบายหนอง จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาที่ผนังหน้าท้องคนไข้ แล้วจึงใส่สายระบายหนอง คนไข้อาจรู้สึกแน่นท้องได้เป็นปกติในขึ้นตอนนี้
หลังจากแพทย์ใส่สายระบายหนองไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว แพทย์จะต่อสายระบายหนองเข้ากับถุงเก็บหนอง และเย็บแผล พร้อมทำความสะอาดแผล
ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ปวดแน่นท้อง
เลือดออกรอบๆบริเวณที่ทำหัตถการ
หากหนองมีความข้นสูง หลังจากใส่สายระบายไปแล้ว สายอาจมีการอุดตันได้ แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องล้างสายระบาย (Irrigation) หรือเปลี่ยนสายระบายให้ท่านใหม่ (Revise PCD)
*คำแนะนำในการดูแลแผล และปฏิบัติตัวหลังใส่สายระบายหนอง
ดูแผลแผลอย่าให้แผลเปียกน้ำ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดตัวแทนการอาบน้ำจนกว่าแพทย์จะเอาสายออก
ทำแผลด้วยวิธีปลอดเชื้อ (Sterile technique) ด้วยตนเอง หรือที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน ทุกๆ 3 วัน หรือบ่อยกว่านั้นถ้าพบว่าแผลสกปรก หรือเปียกชื้น
จดบันทึกปริมาณหนอง และลักษณะของสีของเหลวที่ออกทุกวัน แนะนำให้บันทึกปริมาณเป็น ซีซี/วัน (ml/day) ลงในสมุด และนำมาทุกครั้งเมื่อพบแพทย์
สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไข้ ปวดท้อง มีหนองซึมรอบแผล หรือสายเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม แนะนำให้รีบพบแพทย์ หรือโทรมาที่ศูนย์รังสีร่วมรักษา เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสายระบายอุดตันจากเศษตะกอน หรือตำแหน่งสายอาจเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมแก่การระบายหนอง