การจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) คืออะไร
การจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งในปัจจุบัน โดยเฉพาะมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma), มะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ตับ (Liver metastasis), มะเร็งปอด (Lung cancer) รวมถึงมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ปอด (Lung metastasis) โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เป็นเข็มชนิดพิเศษ ที่สามารถปล่อยพลังงานออกมารอบเข็มได้ แทงเข้าไปยังกลางก้อนมะเร็งโดยตรง เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งที่อยู่รอบๆเข็มตายลงโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
ภาพแสดงการแทงเข็มจี้ก้อนเนื้องอกในตับ
ภาพเนื้อตับหลังถูกจี้ด้วยความร้อน จะเห็นบริเวณเนื้อตายที่ไหม้และสีซีด
เนื่องจากการจี้ก้อนมะเร็งไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นคนไข้จะมีรอยรูแผลจากการสอดเข็มเล็กๆประมาณไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ไม่มีอาการปวดแผลที่รุนแรง ใช้ชิวิตตามปกติได้ใน 2-3 วันหลังการรักษา
ผลการรักษาจากการจี้ก้อนมะเร็งในก้อนเนื้องอกที่ขนาดไม่ใหญ่ (ขนาดไม่เกิน 3-5 เซนติเมตร) และจำนวนไม่มาก (ไม่เกิน 3 ก้อน) มักได้ผลการรักษาทที่ดี ไม่แตกต่างจากการผ่าตัด
เทคนิคการจี้ก้อนเนื้องอกในปัจจุบัน
เทคนิกการจี้ก้อนเนื้องอกในปัจจุบันจะแบ่งตามชนิดของเข็มที่ใช้จี้ ขึ้นกับลักษณะพลังงานที่เข็มนั้นปล่อยออกมาทำลายเซลล์มะเร็ง ได้แก่
เข็มคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation, RFA)
เข็มไมโครเวฟ (Microwave ablation, MWA)
เข็มมีดนาโน (Nano knife, or irreverible eletroporation, IRE)
เข็มความเย็น (Cryoablation)
การจะเลือกใช้เข็มชนิดไหนนั้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะเนื้องอกของคนไข้มากที่สุด
ภาพแสดงเข็มคลื่นวิทยุ (RFA electrodes)
ภาพอัลตราซาวด์ขณะแพทย์แทงเข็มจี้ก้อนเนื้องอกในตับ
ทำไมฉันถึงต้องได้รับการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation)
การจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) เป็นการรักษาที่ได้ผลดีไม่แตกต่างจากการผ่าตัดใหญ่ โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 3-5 cm และจำนวนไม่เกิน 3 ก้อน ซึ่งในปัจจุบัน การจี้ก้อนเนื้องอกถือว่าเป็นหนึ่งในการรักษาหลักสำหรับมะเร็งตับ (Liver cancer), มะเร็งปอด (Lung cancer) และมะเร็งไต (Renal carcinoma) ดังนั้น หากแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีข้อบ่งชี้ดังกล่าว และพิจารณาว่าคนไข้ได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอก แพทย์จะพิจารณาส่งคนไข้มาพบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้คำแนะนำข้อมูลการรักษา และพิจารณาทำการรักษา
ผลการรักษาที่คาดหวัง
ผลการรักษาสูงสุดที่คาดหวังจากการจี้ก้อนเนื้องอกคือ ทำให้เนื้องอกบริเวณที่ถูกจี้ตายทั้งหมด (Complete ablation) ซึ่ง
โดยทั่วไปอัตราสำเร็จอยู่ที่ 95-100% สำหรับก้อนเนื้องอกที่ขนาดไม่ใหญ่ และมีจำนวนไม่เกิน 3 ก้อน ซึ่งถือว่าไม่แตกต่างจากการผ่าตัดใหญ่ แต่มีข้อดีที่เหนือกว่าการผ่าตัดคือ คนไข้ฟื้นตัวเร็ว แผลขนาดเล็ก ไม่ปวดแผล และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการรักษาจะลดลงหากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนหลายก้อน เพราะจะมีโอกาสสูงมากขึ้นที่จะมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ภายหลังการจี้ หรือมีโอกาสหลงเหลือเซลล์มะเร็งหากไม่สามารถมองก้อนได้ชัดในภาพอัลตราซาวด์ระหว่างการรักษา
แต่ถึงแม้จะมีโอกาสที่จะหลงเหลือเซลล์มะเร็งหลังการผ่าตัด คนไข้ก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาโดยการจี้ก้อนเนื้องอกซ้ำได้อีกโดยไม่เพิ่มโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะแตกต่างจากการผ่าตัดใหญ่ที่การผ่าตัดในรอบถัดๆไปจะยากขึ้น และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมากขึ้น
ภาพแสดงผลการรักษาก้อนเนื้องอกในตับโดยการจี้ ว่าไม่แตกต่างจากการผ่าตัด กรณีที่ก้อนมีขนาดเล็ก
ฉันต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเข้ารับการรักษา
ก่อนที่จะพบแพทย์รังสีร่วมรักษาเพื่อทำการจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจตามขั้นตอนดังนี้
1. ท่านควรพบแพทย์เจ้าของไข้ (Clinician) เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา หากแพทย์พิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้ในการจี้ก้อนเนื้องอก แพทย์จะส่งท่านมาปรึกษาที่แผนกรังสีร่วมรักษา (ตึก 72 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช)
หมายเหตุ: ในกรณีที่ท่านไม่สะดวกพบแพทย์เจ้าของไข้ก่อน ท่านสามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาในการทำหัตถการได้โดยตรงที่แผนกรังสีร่วมรักษา
2. พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้แพทย์ประเมินความเหมาะสม และข้อบ่งชี้ของการจี้ก้อนเนื้องอก
3. แพทย์รังสีร่วมรักษา อธิบายขั้นตอนการทำหัตถการจี้ก้อนเนื้องอก และความเสี่ยงของการทำการหัตถการให้คนไข้เข้าใจ
4. หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
5. แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
6. เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการจี้ก้อนเนื้องอก
1. นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram)
2. งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
3. แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
4. เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการตัดชิ้นเนื้อ
5. แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะหาตำแหน่งที่เหมาะสม และปลอดภัยที่สุดในการจี้ก้อนเนื้องอก โดยใช้ภาพถ่ายทางรังสี เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasonography) หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
6. หลังจากแพทย์ยืนยันตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการตัดจี้ก้อนเนื้องอก แพทย์จะทายาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังที่จะทำหัตถการ และฉีดยาชาเฉพาะที่
7. หลังจากยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะใช้เข็มสำหรับจี้ก้อนเนื้องอก แทงผ่านผิวหนังไปยังตำแหน่งก้อน หรือรอยโรค ในระหว่างนี้วิสัญญีแพทย์จะเริ่มให้ยานำสลบ ทำให้คนไข้หลับในช่วงนี้ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นหัตถการ
8. หลังจากคนไข้หลับสนิท แพทย์จะเริ่มจี้ก้อนเนื้องอกโดยปล่อยพลังงานรอบๆเข็มมที่จี้จนกว่าเนื้องอกจะตายหมด
9. ก่อนสิ้นสุดหัตถการ แพทย์จะตรวจประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการรักษา เช่น เลือดออก (Bleeding/ecchymosis) หากพิจารณาแล้วว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องการการรักษาต่อ แพทย์จะปิดแผลแน่น (Pressure dressing) และอาจพิจารณาให้ท่านงดน้ำงดอาหารต่ออีก 4 ชั่วโมง หลังเสร็จหัตถการ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
9. หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะให้ทานอาหารได้ตามปกติ และพิจารณาให้กลับบ้าน (Discharge) ได้ในเช้าวันถัดไป
10. แพทย์นัดตรวจติดตามผลการรักษาโดยอาจทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในอีก 4-6 สัปดาห์ และนัดคนไข้ฟังผลการรักษาเพื่อพิจารณาว่าต้องรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังการรักษา
คนไข้สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการจี้ก้อนเนื้องอกได้ดังนี้
1. เลือดออก (Bleeding) ในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้ต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม หรือนอนโรงพยาบาลนานขึ้น
2. ห้อเลือด หรือรอยช้ำบริเวณแผล
3. อาการปวดเล็กน้อยบริเวณแผลที่แพทย์สอดเข็ม
4. มีเซลล์มะเร็งหลงเหลือรอบบริเวณที่จี้ ซึ่งอาจต้องมาจี้รักษาอีกครั้ง