การใส่สายระบายถุงน้ำดี (Cholecystostomy) คืออะไร ?
การใส่สายระบายถุงน้ำดี (Cholecystostomy) คือการระบายน้ำดี (Bile) ออกจากถุงน้ำดี (Gallbladder) โดยตรง ทำในคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) เพื่อเอาน้ำดีที่คั่งค้างในถุงน้ำดีที่อักเสบออก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ถุงน้ำดีอักเสบมักเกิดจากมีนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) หลุดไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี แต่ในบางกรณีก็อาจพบโรคถุงน้ำดีอักเสบได้ในคนที่ไม่มีนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน โดยเฉพาะคนไข้ที่ป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ
ภาพวาดแสดงนิ่วในถุงน้ำดีที่สามารถหลุดออกมาอุดตันท่อน้ำดีได้
ภาพแสดงนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)
ทำไมฉันต้องได้รับการใส่สายระบายถุงน้ำดี
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าคนไข้มีภาวะถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์จะพิจารณาส่งคนไข้มาทำการรักษาโดยวิธีใส่สายระบายถุงน้ำดี (Cholecystostomy) ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด ซึ่งคนไข้มักมีอาการปวดท้องด้านขวาบน มีไข้สูง คลื่นไส้ โดยหลังใส่สายระบายถุงน้ำดีคนไข้จะมีสายระบายโผล่ออกมาทางผนังหน้าท้อง และต้องใส่สายระบายน้ำดีคาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ แพทย์จึงพิจารณาว่าสามารถเอาสายออกได้หรือไม่
ฉันต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนใส่สายระบายถุงน้ำดี
ก่อนเข้ารับการรักษา คนไข้จำเป็นต้องพบแพทย์ (Clinician) เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดก่อนว่ามีภาวะถุงน้ำดีอักเสบหรือไม่
บางกรณี คนไข้อาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยภาพถ่ายทางรังสี เพื่อวินิจฉัยโรคและสาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบ เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasonography) หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
หลังจากได้รับการวินิจฉัย และพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ในการใส่สายระบายถุงน้ำดี คนไข้จะได้พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้ข้อมูลถึง ข้อบ่งชี้ ความจำเป็น ความเสี่ยง และขั้นตอนการรักษา
หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการใส่สายระบายถุงน้ำดี
นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram, liver function test; LFT)
งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการทำหัตถการ
แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะใช้อัลตราซาวด์เพื่อประเมินตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการใส่สายระบายถุงน้ำดี จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาที่ผนังหน้าท้องคนไข้ แล้วจึงใส่สายระบายถุงน้ำดี คนไข้อาจรู้สึกแน่นท้องได้เป็นปกติในขึ้นตอนนี้
จากนั้นแพทย์จะต่อสายระบายเข้ากับถุงเก็บน้ำดี และเย็บแผล พร้อมทำความสะอาดแผล
ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ปวดแน่นท้อง
มีไข้ หรือการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
เลือดออกที่แผล หรือช่องท้อง
ถุงน้ำดีรั่ว และเกิดการอักเสบลุกลามในเยื่อบุช่องท้อง
*คำแนะนำในการดูแลแผล และปฏิบัติตัวหลังใส่สายระบายถุงน้ำดี
ดูแผลแผลอย่าให้แผลเปียกน้ำ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดตัวแทนการอาบน้ำจนกว่าแพทย์จะเอาสายออก
ทำแผลด้วยวิธีปลอดเชื้อ (Sterile technique) ด้วยตนเอง หรือที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน ทุกๆ 3 วัน หรือบ่อยกว่านั้นถ้าพบว่าแผลสกปรก หรือเปียกชื้น
จดบันทึกปริมาณน้ำดี และลักษณะของสีน้ำดีที่ออกทุกวัน แนะนำให้บันทึกปริมาณเป็น ซีซี/วัน (ml/day) ลงในสมุด และนำมาทุกครั้งเมื่อพบแพทย์
สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไข้ ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น โดยหากพบร่วมกับปริมาณน้ำดีที่ออกลดลง สีเปลี่ยนไป หรือสายเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม แนะนำให้รีบพบแพทย์ หรือโทรมาที่ศูนย์รังสีร่วมรักษา เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสายระบายอุดตันจากเศษตะกอนน้ำดี หรือตำแหน่งสายอาจเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมแก่การระบายน้ำดี
จะเอาสายระบายถุงน้ำดีออกได้เมื่อไร ?
โดยทั่วไปจะต้องใส่สายระบายถุงน้ำดีนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันถุงน้ำดีรั่วเข้าช่องท้อง หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการคาสายไว้ หากแพทย์พิจารณาว่าคนไข้สามารถเข้ารับการผ่าตัดเผื่อเอาถุงน้ำดีออกได้ (Cholecystectomy) แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดและเอาสายระบายออก
แต่หากแพทย์พิจารณาว่าคนไข้ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรับการผ่าตัด (Unfit for surgery) ร่วมกับการมีนิ่วในถุงน้ำดี จะถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องคาสายระบายน้ำดีไว้ตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของถุงน้ำดีอักเสบ โดยแพทย์จะนัดมาเปลี่ยนสายระบายทุกๆ 3-4 เดือน