การตัดชิ้นเนื้อ (Tissue biopsy) คืออะไร?
การตัดชิ้นเนื้อ (Tissue biopsy) เป็นหัตถการเพื่อนำบางส่วนของก้อน (Mass or nodule) หรือรอยโรค (Lesion) มาเพื่อตรวจยืนยันความผิดปกติทางพยาธิวิทยา (Pathology) หรือนำมาตรวจเพาะเชื้อ (Culture) เพื่อให้ได้มาซึ่งการวินิจฉัยสุดท้าย (Final diagnosis) ว่าก้อน หรือรอยโรคดังกล่าวเกิดจากอะไร ทำให้คนไข้ได้รับการรรักษาที่ถูกต้องที่สุด
ทำไมฉันต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อ (Tissue biopsy)
แพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลผู้ป่วยจะพิจารณาส่งตัดชิ้นเนื้อ (Tissue biopsy) เมื่อแพทย์ตรวจพบความผิดปกติเช่นก้อน (Mass or nodule) หรือรอยโรค (Lesion) ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนจากประวัติ (Clinical history), ตรวจร่างกาย (Physical examination) หรือภาพถ่ายทางรังสี (Imaging) จึงต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมจากชิ้นเนื้อที่ผิดปกติเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยสุดท้าย (Final diagnosis)
ฉันต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนมาตัดชิ้นเนื้อ
ก่อนที่จะพบแพทย์รังสีร่วมรักษาเพื่อทำการตัดชื้นเนื้อ (Tissue biopsy) ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจตามขั้นตอนดังนี้
1. ท่านควรพบแพทย์เจ้าของไข้ (Clinician) เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา หากแพทย์พิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้ในการตัดชิ้นเนื้อ แพทย์จะส่งท่านมาปรึกษาที่แผนกรังสีร่วมรักษา (ตึก 72 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช)
หมายเหตุ: ในกรณีที่ท่านไม่สะดวกพบแพทย์เจ้าของไข้ก่อน ท่านสามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาในการทำหัตถการได้โดยตรงที่แผนกรังสีร่วมรักษา
2. พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้แพทย์ประเมินความเหมาะสม และข้อบ่งชี้ของการตัดชิ้นเนื้อ
3. แพทย์รังสีร่วมรักษา อธิบายขั้นตอนการทำหัตถการตัดชิ้นเนื้อ และความเสี่ยงของการทำการหัตถการให้คนไข้เข้าใจ
4. หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
5. แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
6. เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการตัดชิ้นเนื้อ (ในแต่ละอวัยวะอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย)
1. นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram)
2. งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
3. แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
4. เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการตัดชิ้นเนื้อ
5. แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะหาตำแหน่งที่เหมาะสม และปลอดภัยที่สุดในการตัดชิ้นเนื้อ โดยใช้ภาพถ่ายทางรังสี เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasonography), เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซ์เรย์ฟลูออโรสโคป (Fluoroscopy) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตัดชิ้นเนื้อ
6. หลังจากแพทย์ยืนยันตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการตัดชิ้นเนื้อแล้ว แพทย์จะทายาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังที่จะทำหัตถการ และฉีดยาชาเฉพาะที่
7. หลังจากยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะใช้เข็มสำหรับตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy needle) แทงผ่านผิวหนังไปยังตำแหน่งก้อน หรือรอยโรค และยืนยันตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อด้วยภาพถ่ายทางรังสี เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อบางส่วนของก้อนหรือรอยโรคประมาณ 4-6 ชิ้น เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Pathology) หรือเพาะเชื้อต่อไป (Culture)
8. ก่อนสิ้นสุดหัตถการ แพทย์จะตรวจประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังตัดชิ้นเนื้อ เช่น เลือดออก หากพิจารณาแล้วว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องการการรักษาต่อ แพทย์จะปิดแผลแน่น (Pressure dressing) และอาจพิจารณาให้ท่านงดน้ำงดอาหารต่ออีก 2-4 ชั่วโมง หลังเสร็จหัตถการ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
9. หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้ท่านทานอาหารได้ตามปกติ และพิจารณาให้ท่านกลับบ้าน (Discharge) ได้ในเช้าวันถัดไป
10. ผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดไป โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้ จะให้ใบนัดท่านก่อนกลับบ้าน เพื่อนัดมาฟังผลตรวจชิ้นเนื้อ และวางแผนการรักษาต่อไป
ภาพแสดงตัวอย่างเข็มที่ใช้ในการตัดชิ้นเนื้อ
ภาพอัลตราซาวด์ขณะสอดเข็มตัดชิ้นเนื้อเข้าไปในก้อน หรือรอยโรค
ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ท่านมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ นี้ได้ ซึ่งแพทย์จะเฝ้าระวัง และให้การรักษาเพื่อทำให้ท่านปลอดภัยที่สุดในการทำหัตถการ
1. เลือดออก (Bleeding)*
2. ห้อเลือด หรือรอยช้ำบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ (Bruising)
3. อาการปวดเล็กน้อยบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ (Localized pain)
4. ผลชิ้นเนื้อแปลผลไม่ได้ ซึ่งอาจต้องนัดตัดชิ้นเนื้อใหม่ (Inadequate tissue sampling)
*หมายเหตุ: ภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก (Bleeding) อาจมีความรุนแรงได้ตั้งแต่ เลือดออกเล็กน้อย แล้วหยุดได้เอง ซึ่งอาจไม่ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม แต่หากเลือดออกปริมาณมาก ไม่หยุดเอง หรือสัญญานชีพของท่านผิดปกติ เช่น ชีพจรเร็ว ความดันตก หรือหน้ามืด เวียนหัว แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษา เพื่อทำให้ท่านปลอดภัยที่สุด แต่อาจทำให้ท่านต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น (Prolonged admission)
ภาพรอยฟกช้ำบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ