การฉีดสีหลอดเลือด (Angiography) คืออะไร
การฉีดสีหลอดเลือด (Angiography) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดแดง (Artery) หรือหลอดเลือดดำ (Vein) ซึ่งตัวอย่างความผิดปกติของหลอดเลือดนั้นได้แก่ หลอดเลือดผิดปกติ (Arteriovenous malformation), หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm), เลือดออก (Bleeding), หรือดูหลอดเลือดของก้อนเนื้องอก (Tumor vascularity) เป็นต้น โดยการฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ผ่านสายสวนหลอดเลือด (Catheter) เข้าทางหลอดเลือดแดง หรือหลอดเลือดดำที่ต้องการตรวจ ร่วมกับการใช้เครื่องฟลูออโรสโคป (Fluoroscopy) หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ในการตรวจหาความผิดปกติ
ภาพตัวอย่างแสดงการฉีดสีดูหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงลำไส้
(Superior mesenteric artery angiography)
ทำไมฉันต้องได้รับการฉีดสีหลอดเลือด (Angiography)
แพทย์เจ้าของไข้ (Clinician) จะพิจารณาส่งท่านมาตรวจฉีดสีหลอดเลือด เมื่อแพทย์ต้องการประเมินความผิดปกติของหลอดเลือด เพื่อวางแผนการรักษา ตัวอย่างความผิดปกติของหลอดเลือดได้แก่
หลอดเลือดผิดปกติ (Arteriovenous malformation / fistula)
หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
เลือดออก (Bleeding)
ประเมินหลอดเลือดของก้อนเนื้องอก (Tumor vascularity)
ฉันต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนมาฉีดสีหลอดเลือด
ก่อนเข้ารับการรักษาโดยวิธีอุดหลอดเลือด คนไข้จำเป็นต้องพบแพทย์ (Clinician) เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดก่อน ว่าความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกิดขึ้นคืออะไร และมีข้อบ่งชี้การฉีดสีหลอดเลือดหรือไม่
บางกรณี คนไข้อาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยภาพถ่ายทางรังสีหลอดเลือด เช่น อัลตราซาวด์ (Doppler ultrasonography), เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT angiography) หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI angiography)
หลังจากได้รับการวินิจฉัย และพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ในการรักษาที่ชัดเจน ท่านจะได้รับนัดหมายให้พบแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) เพื่อให้ข้อมูลถึง ข้อบ่งชี้ ความจำเป็น ความเสี่ยง และขั้นตอนการฉีดสีหลอดเลือด
หลังจากท่านเข้าใจถึงขั้นตอน และความเสี่ยงของการทำหัตถการแล้ว แพทย์จะให้ท่านลงนามในเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำหัตถการ (Consent form)
แพทย์จะกำหนดวันทำหัตถการ และแจ้งให้ท่านทราบ พร้อมออกใบนัด
เจ้าหน้าที่พยาบาล จะอธิบายขั้นตอนการทำเรื่องนอนโรงพยาบาล (Admission) ให้ท่านทราบ โดยทั่วไปจัดนัดมานอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนวันที่นัดทำหัตถการ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และตรวจผลเลือดว่าไม่มีข้อห้ามในการทำหัตถการ เช่น เลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือเกร็ดเลือดต่ำ
ขั้นตอนการฉีดสีหลอดเลือด (ในแต่ละอวัยวะอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย)
1. นอนโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนทำหัตถการ เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และตรวจเลือด (CBC, Coagulogram)
2. งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการ
3. แพทย์อาจพิจารณา เปิดเส้นเลือดดำ (Peripheral IV access) เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างทำหัตถการ
4. เจ้าหน้าที่จะนำท่านมายังห้องผ่าตัดเพื่อทำหัตถการ ที่ตึก 72 ปีชั้น 2 โดยภายในห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านขึ้นเตียงหัตถการ และจัดท่าทางท่านให้เหมาะสมที่สุดในการตัดชิ้นเนื้อ
5. แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiologist) จะใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อทำการฉีดสีหลอดเลือด (Angiography) โดยอาจพิจารณาใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านทางบริเวณขาหนีบ (Femoral access) หรือทางข้อมือ (Radial access) ขึ้นกับความเหมาะสมของหัตถการ และขนาดหลอดเลือดของคนไข้
6. หลังจากแพทย์ยืนยันตำแหน่งหลอดเลือดที่ผิดปกติแล้ว และฉีดสีประเมินความผิดปกติของหลอดเลือดแล้ว อาจเสร็จสิ้นการทำหัตถการ หรืออาจให้การรักษาอื่นๆ ต่อผ่านทางสายสวนหลอดเลือดนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอุดหลอดเลือด (Embolization), การถ่างขยายหลอดเลือด (Angioplasty), การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial chemoembolization) หรือการเก็บตัวอย่างเลือด (Blood sampling) เป็นต้น
7. จากนั้นแพทย์จะนำสายสวนหลอดเลือดออกจากร่างกายคนไข้ และทำการกดห้ามเลือดบริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือด และปิดแผล
หมายเหตุ: เทคนิกการห้ามเลือดจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือด (Access site)
กรณีใส่สายสวนหลอดเลือดทางขาหนีบ (Femoral access): แพทย์จะห้ามเลือดโดยกดห้ามเลือดบริเวณขาหนีบนานประมาณ 15นาที หลังจากเลือดหยุดดี แพทยจะทำความสะอาดปิดแผล และให้ท่านนอนเหยียดขาข้างที่ทำหัตถการนาน 8 ชั่วโมง (Absolute bed rest) เพื่อป้องกันเลือดออก โดยห้ามเดินหรือนั่งในช่วงเวลาดังกล่าว
กรณีใส่สายสวนหลอดเลือดทางข้อมือ (Radial access): แพทย์จะห้ามเลือดโดยพันอุปกรณ์ห้ามเลือด (Hemostatic bandage) นานอย่างน้อย 30 นาที จนกว่าเลือดจะหยุดดี หลังจากนั้นจะทำความสะอาดแผลและปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ท่านสามารถเดิน หรือนั่งทานอาหารได้ตามปกติ
ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ห้อเลือด (Ecchymosis), รอยฟกช้ำ (Bruise) บริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือด
อวัยวะที่เกี่ยวข้องอาจขาดเลือด ทำให้เกิดอาการปวดได้